บทความที่เกี่ยวข้อง

 

      

            วิวัฒนาการของประวัติศาสตร์ศิลป์และการออกแบบศิลปะเครื่องประดับตะวันตก

           ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  มีการการเริ่มต้นที่มาจากการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานเครื่องประดับอย่างง่ายเนื่องจากมีผลจากเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ค้นพบในแต่ละช่วงสมัย  และส่วนใหญ่มีแรงบันดาลใจมาจากการรู้จักธรรมชาติ  การเรียนรู้ของวิถีชีวิตสังคมที่มีลักษณะอย่างง่ายไปจนถึงมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบการออกแบบศิลปะเครื่องประดับ  ซึ่งมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบแบ่งเป็น  3  ลักษณะ  ดังนี้

                1.  ลักษณะต้นแบบโบราณ

            2.  ลักษณะการนำต้นแบบมาพัฒนาใหม่  หรือมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ

            3.  ลักษณะการออกแบบรูปแบบใหม่

            4.  ลักษณะการออกแบบข้ามวัฒนธรรม

            1.  ลักษณะต้นแบบโบราณ

            รูปแบบศิลปะเครื่องประดับที่มีลักษณะต้นแบบนี้  ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในสมัยศิลปะเครื่องประดับยุคก่อนประวัติศาสตร์  เนื่องจากมนุษย์ได้เริ่มต้นการเรียนรู้ชีวิต  มีประชากรมนุษย์ไม่มากนัก  ประกอบกับการเดินทางของมนุษย์ยังเป็นไปได้ยาก  ทำให้การลอกเลียนแบบรูปแบบซึ่งกันและกันยังไม่ถือกำเนิดออกมา  ผู้ที่สร้างสรรค์งานศิลปะหรือรูปแบบเครื่องประดับ  จะสร้างสรรค์ได้จากสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเอง  เช่น  จากการสังเกตพืชพรรณธรรมชาติ  จากการล่าสัตว์เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตต่างๆ  การดำเนินชีวิตประจำวัน  เป็นต้น  หลังจากเรียนรู้จึงเกิดการทดลองด้วยต้นเองหลายครั้งหลายครา  จนเกิดกระบวนการในการออกแบบหรือผลิตสิ่งที่คิดสร้างสรรค์ได้อย่างแม่นยำในรูปแบบของตนเอง

            เมื่อสังคมมนุษย์เข้าสู่ความเป็นอารยธรรม  การสั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่ต้นจึงมีการดำเนินการอย่างเป็นแบบแผนมากขึ้น  เริ่มมีกฎเกณฑ์ทางสังคม  มีการแบ่งชนชั้นฐานันดร  มีความเชื่อจากสิ่งที่มองไม่เห็นของธรรมชาติชัดเจนมากยิ่งขึ้น  วิถีเปลี่ยนแปลงเหล่านี้  ได้ส่งอิทธิพลถึงการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องประดับ  เพื่อสนองต่อความเชื่อในสิ่งที่มนุษย์ได้เผชิญอย่างหลีกเลี่ยงมิได้  ความจำเป็นในการสร้างสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นผลให้เกิดรูปแบบเครื่องประดับที่เป็นต้นแบบ  มีลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะในหมู่สังคมที่มนุษย์ได้มีประสบการณ์ของตนเอง

            ดังนั้นรูปแบบเครื่องประดับที่เป็นต้นแบบจึงมาจากรูปแบบอารยธรรมโบราณในเบื้องต้นก่อน  จากการที่มนุษย์ยังเดินทางไม่ทั่วถึงกันดีนัก  รูปแบบจึงมีลักษณะเป็นของตนเองสูง  ทั้งวัสดุในการใช้  การผลิต  รวมทั้งความเชื่อในเรื่องรูปทรงต่างๆ 

 

   ตัวอย่างลักษณะต้นแบบโบราณ

 

 

 

 

 

 

 


หน้ากากทองคำของฟาโรห์ตูตันคาร์เมน  เมื่อ  1,350  ปีก่อนคริสตศักราช

ที่มา  :  Hermann (1996), 6

 

            2.  ลักษณะการนำต้นแบบมาพัฒนาใหม่  หรือมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ

            สืบเนื่องมาจากสังคมมนุษย์มีการพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น  ประกอบกับสังคมมนุษย์มีความซับซ้อนมากขึ้น  เกิดการค้าเสรี  เกิดการเดินทางที่มีอิสระ  เกิดการกระตุ้นความต้องการ  ทั้งทางด้านความรู้สังคมมนุษย์อื่นๆ  และทางด้านวัตถุ  ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าอารยธรรมโบราณที่ปรากฏและไม่ปรากฏบนผืนโลกมากยิ่งขึ้น  เมื่อมนุษย์ได้รู้จักอารยธรรมโบราณมากขึ้น  จนผู้สร้างสรรค์ผลงานเครื่องประดับนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องประดับให้สวยงามน่าประทับใจมากขึ้น  ซึ่งสังคมได้ปรับสภาพเครื่องประดับจากความต้องการเพื่อความเชื่อกลายมาเป็นเครื่องประดับเพื่อความงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ความงดงามอันน่าประทับใจจากอารยธรรมเก่าได้เกิดความงดงามขึ้นใหม่  กลายเป็นต้นแบบของการออกแบบเครื่องประดับเป็นต้นมา  โดยในเบื้องต้นเป็นการนำรูปแบบมาประดิษฐ์  รูปแบบเครื่องประดับที่ปรากฏจึงมีลักษณะใกล้เคียงกบต้นแบบ  แต่มีความสวยงามและละเอียดลออมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตได้มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น  จึงเป็นลักษณะที่สวยงามกว่าเป็นต้นแบบมาก


   ตัวอย่างการนำต้นแบบมาพัฒนาใหม่  หรือมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


กล่องใส่ของขนาดเล็ก  เมื่อปี  ค.ศ.1922  โดย  Cartier ได้แรงบันดาลใจจากการค้นพบสุสานฟาโรห์ตูตันคาร์เมน

ที่มา  :  Kenneth (1990), 200

 

                3.  ลักษณะการออกแบบรูปแบบใหม่

            ในระหว่างที่มีการนำต้นแบบมาเป็นแรงบันดาลใจนั้น  ศิลปะได้มีการพัฒนาขึ้นใหม่เรื่อยๆ  อยู่เช่นกัน  ทั้งรูปแบบขนาดกับการออกแบบที่มีอารยธรรมเก่ามาเป็นแรงบันดาลใจ  กับการออกแบบใหม่นำล้ำหน้าขึ้นไป  ซึ่งมีลักษณะต้นแบบที่มีรูปแบบร่วมสมัยใหม่  เนื่องจากการพัฒนาทางสังคมที่เริ่มรู้จักกันมากขึ้น  จากการที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมขึ้น  จนมนุษย์รุ่นอารยธรรมคาดไม่ถึง  ประกอบกับอิทธิพลต่างๆ  ล้วนมีความน่าสนใจในการสร้างแรงบันดาลในใหม่

            ดังนั้นการออกแบบเครื่องประดับรูปแบบใหม่ๆ  จึงเป็นอีกพัฒนาการหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าทางความคิดในการออกแบบ  เป็นการแสดงถึงชั้นเชิงของมนุษย์รุ่นหลังที่มีการสังเกตและความคิดสร้างสรรค์ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  มีการเข้าสู่สุนทรียศาสตร์ที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้น  จัดเป็นการจินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ต่อการออกแบบศิลปะเครื่องประดับให้มีความสวยงามและน่าสนใจต่อไปของมนุษย์


   ตัวอย่างลักษณะการออกแบบรูปแบบใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 

ชื่อผลงาน  Dragonfly  ของนายเรอเน่  ลาลิก  เมื่อปี  ค.ศ.1897-98

ที่มา:Kenneth, (2002), 131

 

            4.  ลักษณะการออกแบบข้ามวัฒนธรรม

            เป็นรูปแบบเครื่องประดับที่เกิดขึ้นตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักเดินทางไปยังถิ่นอื่น  ได้เห็นความแตกต่างระหว่างรูปแบบที่ตนไม่เคยเห็น  นักออกแบบเครื่องประดับหลายยุคได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจ  ตั้งแต่ดินแดนที่ใกล้บ้านเรือนเคียงไปจนถึงดินแดนที่คาดคะเนไม่ได้  มักเป็นรูปแบบที่สร้างชื่อเสียงให้กับนักออกแบบมาหลายชื่อ  นอกจากแรงบันดาลใจแล้ว  วิธีกระบวนการผลิต  หรือแนวคิดทางด้านวัตถุดิบ  ได้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันด้วย  ทำให้เกิดร่วมสมัยของรูปแบบหลายพื้นที่  หรือจัดเป็นการขยายรูปแบบไปยังดินแดนอื่นๆ  ได้

 

  ตัวอย่างลักษณะการออกแบบข้ามวัฒนธรรม

 

 

 

 

 

 

 

 


เครื่องประดับที่มาจากแรงบันดาลใจจากประเทศจีนและญี่ป่น  โดย Cartier

ที่มา  :  Kenneth (2002), 199

 

                จากวิวัฒนาการในการพัฒนาการออกแบบศิลปะเครื่องประดับโดยรวม  ครั้งเมื่อสังคมดั้งเดิมมีลักษณะความเป็นเอกลักษณ์  จึงทำให้สังคมมนุษย์มีความแตกต่างกัน  ตั้งแต่ทางกายภาพ  ทางภูมิอากาศ  จนสภาพทางสังคมและวัฒนธรรม  โลกได้แบ่งเป็นลักษณะตะวันตกและตะวันออก  มีลักษณะดังกล่าวที่แตกต่างสูง  โดยเฉพาะสังคมประเทศไทยและตะวันตกที่มีความแตกต่างกันเริ่มจากที่มีความแตกต่างกันมากจนมาถึงปัจจุบันที่มีความแตกต่างเบาบางลง  เริ่มมีความเหมือนบางประการที่สังคมเข้าใจร่วมกัน  มีวิถีชีวิตบางประการใกล้เคียงกัน  หรือเรียกกันว่ามีความเป็นสากลที่สามารถเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น  รวมทั้งความงามของเครื่องประดับ  ที่เข้าใจร่วมกันได้มากขึ้น  มีความแตกต่างกันบ้างทางด้านรสนิยมและวัฒนธรรมทางสังคม  จึงทำให้รูปแบบเครื่องประดับที่ปรากฏอยู่นั้น  มีทั้งรูปแบบไทยและรูปแบบตะวันตก  นอกจากนี้ยังมีการกำหนดคุณลักษณะ  หรือการกำหนด  trend เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการออกแบบเครื่องประดับให้มีลักษณะในทิศทางเดียวกันทั้งโลกอีกด้วยเช่นกัน

                ดังนั้นการออกแบบเครื่องประดับจึงมีลักษณะของรูปแบบหลายรูปแบบ  สามารถเกิดขึ้นได้ตามความต้องการของสังคมในแต่ละยุดสมัย  รวมทั้งการออกแบบเครื่องประดับที่นำประวัติศาสตร์ศิลป์และการออกแบบศิลปะเครื่องประดับมาใช้ในการนำเสนอแรงบันดาลใจ  ที่นักออกแบบเครื่องประดับหลายยุคสมัยได้นำกระบวนการดังกล่าวมาใช้กันอย่างต่อเนื่อง  นอกจากความรู้ที่ได้รับ  ยังสามารถนำลักษณะเด่นของแต่ละช่วงสมัยมาออกแบบเครื่องประดับได้เป็นอย่างดี  หรือได้เห็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องประดับของนักออกแบบเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงว่าประสบความสำเร็จในการออกแบบเครื่องประดับได้อย่างไร  ซึ่งอาจมาจากหลาทิศทาง  เช่น  จากความชาญฉลาด  ความคิดสร้างสรรค์  ความอดทน  จังหวะที่เหมาะสม  หรือพรสวรรค์บางประการ เป็นต้น